....เทคนิคการอ่านบทความ อ่านเรื่องทั่วๆไปที่ตนเองสนใจหรือจำเป็นต้องอ่าน เพราะว่าชีวิตคนเราจะมามัวเลือกอ่านเฉพาะสิ่งที่ตนเองสนใจอยู่ตลอดเวลาก็ไม่ได้...ใช่มั้ยคะ...บางครั้งมันก็ต้องมีอะไรที่ต้องกล้ำกลืนฝืนอ่านกันบ้าง  ทีนี้สิ่งที่สำคัญก็คือเราจำเป็นจะต้องหาวิธีการอ่านที่เหมาะสม

การอ่านมีหลายระดับ และมีวิธีการต่าง ๆ ตามความมุ่งหมายของผู้อ่าน และประเภทของสื่อการอ่าน การอ่านเพื่อการศึกษา ค้นคว้าและเขียนรายงาน อาจใช้วิธีอ่านต่าง ๆ เช่น การอ่านสำรวจ การอ่านข้าม การอ่านผ่าน การอ่านจับประเด็น การอ่านสรุปความและการอ่านวิเคราะห์ ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้

1. การอ่านสำรวจ คือ การอ่านข้อเขียนอย่างรวดเร็ว เพื่อรู้ลักษณะโครงสร้าง สำนวนภาษา เนื้อเรื่องโดยสังเขป เป็นวิธีอ่านที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการเลือกสรรสิ่งพิมพ์ สำหรับใช้ประกอบการค้นคว้า หรือการหาแนวเรื่องสำหรับเขียนรายงาน และรวบรวมบรรณานุกรมในหัวข้อที่เขียนรายงาน

2. การอ่านข้าม (Skimming Reading)เป็นวิธีอ่านอย่างรวดเร็วเพื่อเข้าใจเนื้อหาของข้อเขียน โดยเลือกอ่านเพียงบางตอน เช่น อ่านคำนำ สาระสังเขป บทสรุป  และการอ่านเนื้อหาเฉพาะตอนที่ตรงกับความต้องการเป็นต้น

3. การอ่านผ่าน(Scanning Reading) เป็นการอ่านแบบกวาดสายตา  โดยการกวาดสายตาอย่างรวดเร็วไปยังสิ่งที่เป็นเป้าหมายในข้อเขียนเช่น คำสำคัญ หรือ สัญลักษณ์ แล้วอ่านรายละเอียดเฉพาะที่เกี่ยวกับสิ่งที่ต้องการ เช่น การอ่านเพื่อค้นหาชื่อในพจนานุกรม และการอ่านแผนที่ เป็นต้น

4. การอ่านจับประเด็น หมายถึง การอ่านเรื่องหรือข้อเขียนโดยทำความเข้าใจสาระสำคัญในขณะที่อ่าน มักใช้ในการอ่าน ข้อเขียนที่ไม่ยาวนัก เช่น บทความ การอ่านเร็ว ๆ หลายครั้งจะช่วยให้จับประเด็นได้ โดยการอ่านมีเทคนิคคือต้องสังเกตคำสำคัญ ประโยคสำคัญที่มีคำสำคัญ และทำการย่อสรุปบันทึกประโยคสำคัญไว้ เพื่อใช้ประโยชน์ต่อไป

5. การอ่านสรุปความ หมายถึง การอ่านโดยสามารถตีความหมายสิ่งที่อ่านได้ถูกต้องชัดเจนเข้าใจเรื่องอย่างดี สามารถแยกส่วนที่สำคัญหรือไม่สำคัญออกจากกัน รู้ว่าส่วนใดเป็นข้อเท็จจริง หรือข้อคิดเห็น ส่วนใดเป็นความคิดหลัก ความคิดรอง การอ่านสรุป ความมีสองลักษณะคือ การสรุปแต่ละย่อหน้าหรือแต่ละตอน และสรุปจากทั้งเรื่อง หรือทั้งบท การอ่านสรุปความควรอ่านอย่างคร่าว ๆ ครั้งหนึ่งพอให้รู้เรื่อง แล้วอ่านละเอียดอีกครั้งเพื่อเข้าใจเรื่องอย่างดี หลังจากนั้นตั้งคำถามตนเองในเรื่องที่อ่านว่าเกี่ยวกับอะไร มีเรื่องราวอย่างไร แล้วเรียบเรียงเนื้อหาเป็นสำนวนภาษาของผู้สรุป

6. การอ่านวิเคราะห์ การอ่านเพื่อค้นคว้าและเขียนรายงานโดยทั่วไปต้องมีการวิเคราะห์ความหมายของข้อความ ทั้งนี้เพราะ ผู้เขียนอาจใช้คำและสำนวนภาษาในลักษณะต่าง ๆ อาจเป็นภาษาโดยตรงมีความชัดเจนเข้าใจง่าย ภาษาโดยนัยที่ต้องทำความเข้าใจ และภาษาที่มีความหมายตามอารมณ์และความรู้สึกของผู้เขียน ผู้อ่านที่มีความรู้เรื่องคำศัพท์และสำนวนภาษาดี มีประสบการณ์ ในการอ่านมากและมีสมาธิในการอ่านดี ย่อมสามารถวิเคราะห์ได้ตรงความหมายที่ผู้เขียนต้องการสื่อ และสามารถเข้าใจเรื่องที่อ่านได้ดี

นักอ่านที่ดีควรรู้จักเลือกว่าเมื่อใดควรอ่านละเอียด เมื่อใดควรอ่านคร่าวๆ บางเรื่องต้องการความเข้าใจลึกซึ้ง

บางเรื่องไม่จำเป็นต้องอ่านละเอียด บางเรื่องอ่านเพียงเพื่อจับใจความสำคัญเท่านั้น วิธีการช่วยให้อ่านได้เร็วขึ้น  คืออ่านนำร่อง ( Pre-reading )

Pre-reading  อ่านอย่างเร็วเพื่อให้ได้ภาพรวมๆของเรื่อง ทำได้ดังนี้

1. อ่านชื่อเรื่องและหัวข้อรอง( Title and subtitle )
2. อ่าน paragraph แรก
3. สังเกตพวกภาพประกอบถ้ามีได้แก่ กราฟ รูปภาพ ไดอะแกรม เป็นต้น
4. อ่านประโยคแรกและสุดท้ายของแต่ละ paragraph ที่เหลือ
5. อ่าน paragraph สุดท้ายหรือสรุปเรื่องเพราะเป็นตัวช่วยที่จะบอกใจความสำคัญหรือจุดประสงค์ของเรื่อง
6. ในขณะที่อ่านลองตั้งคำถามในใจดังนี้

คุ้นเคยกับเรื่องนี้มากแค่ไหน ถ้าคุ้นเคยจินตนาการตามไปด้วย
เรื่องที่อ่านเป็นเรื่องทางวิทยาศาสตร์ สังคม หรืออะไร
จุดประสงค์ของผู้แต่งคืออะไร
หาใจความหลักได้หรือไม่
ตั้งคำถามอะไรได้บ้างในเรื่องที่อ่านนี้

สิ่งสุดท้ายที่ครูจะฝากให้คุณนำไปทดลองใช้ คือ เทคนิคเพิ่มประสิทธิภาพในการอ่าน

มองตรงเป็นมุม 90 องศากับตัวหนังสือ
อ่านอย่างรวดเร็วเท่าที่จะทำได้
อย่าอ่านทีละคำ ให้อ่านเป็นวลีหรือประโยค
อ่านแบบเดินหน้าจนกว่าจะจบเรื่อง
มีสมาธิไม่ทำกิจกรรมอื่นขณะอ่าน
อย่าหยุดทุกครั้งที่พบคำศัพท์ที่ไม่เคยเห็นหรือไม่เข้าใจ
อย่าใจลอยขณะอ่าน
รู้จักการทำนายเรื่อง การคาดเดา
อย่าอ่านทุกเรื่องด้วยความเร็วเท่ากันหมด บางเรื่องยากกว่า ใช้เวลานานกว่า
 

Make a Free Website with Yola.